
อัลปากามาจากไหน?
Alpaca (Lama Pacos) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในวงศ์อูฐ ถิ่นอาศัยอยู่ในพื้นที่สูงบริเวณเทือกเขาแอนดีสในทวีปอเมริกาใต้ ได้แก่ ตอนใต้ของประเทศเปรู ตอนเหนือของประเทศโบลิเวีย เอกวาดอร์ และชิลี มันมีลักษณะเหมือนอูฐที่คอยาวแต่ไม่มีโหนก
ขนระดับพรีเมี่ยม
อัลปาก้าเป็นสัตว์ที่เลี้ยงไว้เพื่อ “ขน” (alpaca fleece)
แม้คนท้องถิ่นจะเอาเนื้อของมันมารับประทาน แต่โดยส่วนใหญ่เลี้ยงเพื่อขน
ว่ากันว่าขนของมันนุ่มที่สุดในโลก นอกจากจะชนะเลิศเรื่องความหนานุ่มแล้วขนยังยาว ให้ความอบอุ่น น้ำหนักเบา ไม่คัน และมีหลายสี สีตามธรรมชาติมีประมาณ 22 เฉดสี ไล่ตั้งแต่สีดำ สีเงิน น้ำตาล จนมาถึงสีขาว และยังสามารถเลี้ยงเพื่อผสมพันธุ์สีตามต้องการอีกด้วย
อัลปากาแบ่งเป็น 2 สายพันธุ์ตามลักษณะขน ได้แก่ Suri ขนยาว นุ่ม ลื่น เป็นมันเงา และ Huaccaya ขนปุยเหมือนตุ๊กตาหมีเท็ดดี้แบร์ คุณสมบัติสุดพิเศษของขนอัลปากามีส่วนสำคัญที่ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอในแถบเทือกเขาแอนดีสมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรอินคา จนถึงทุกวันนี้ขนฟูหนาของอัลปากาก็ยังคงเป็นที่ต้องการในวงการแฟชั่นมาก ๆ ฉะนั้นถ้าราคาจะแพงก็คงไม่น่าแปลกใจเลย มิน่าล่ะคนทั่วโลกจึงทำฟาร์มเลี้ยงอัลปากากัน
อัลปากามีค่าดั่งทอง
ย้อนกลับไปเมื่อราว ๆ พันปีก่อน ชาวอินคาใช้อัลปากาเป็นสินทรัพย์เพื่อแสดงถึงความมั่งคั่ง ใครมีอัลปาก้าไว้ในครอบครองมากก็รวยมากเท่านั้น หรือถ้าไม่นับอัลปากาตัวเป็น ๆ ก็จะอวดรวยกันด้วยเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ทำมาจากขนของอัลปากา มันจึงกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดมานับแต่นั้นเพราะสร้างความมั่งคั่งและอนาคตที่สดใสให้กับคนที่เป็นเจ้าของได้โดยเฉพาะคนเปรูที่สภาพเศรษฐกิจเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับอัลปากา ดังนั้น หากจะเหมาเอาว่าอัลปากามีค่าเหมือนทองคำก็คงไม่เกินเลยนัก
และแม้ว่าในบ้านเราจะมีฟาร์มอัลปากาให้เราไปสัมผัสมันตัวเป็น ๆ
แต่เชื่อเถอะว่าถ้ามีโอกาสได้เห็นพวกมันเดินเล็มหญ้า นอนอาบแดดอยู่ที่มาชู ปิกชู หรือตามโบราณสถานเก่าแก่ของอาณาจักรอินคา คงรู้สึกตื่นเต้นกว่ากันเยอะเลยเนอะ
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.